Wednesday, May 16, 2018

ผงะ!ที่ดินไทยอยู่ในมือต่างชาติกว่า 100 ล้านไร่ สิงคโปร์ถือครองมากที่สุด อนาคตลูกหลานไทยเป็นแค่แรงงาน ที่ดิน รัฐบาล

ผงะ!ที่ดินไทยอยู่ในมือต่างชาติกว่า 100 ล้านไร่ สิงคโปร์ถือครองมากที่สุด อนาคตลูกหลานไทยเป็นแค่แรงงาน

ที่ดิน รัฐบาล

http://www.tcijthai.com/news/2012/03/scoop/335



คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา จัดสัมมนาหัวข้อ " นิติกรรมอำพราง : ต่างชาติกับการถือครองที่ดิน" โดย นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน เข้าร่วมสัมมนา พบว่า ปัญหาความมั่นคงของประเทศที่เราพบกันนั้นมีอยู่ 2 รูปแบบ เกิดจาก 1.ความมั่นคงทางทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหายาเสพติด ทำให้บั่นทอนบุคคลากรของประเทศในระยะยาว และ 2.ปัญหาด้านความมั่นคงด้านที่ดิน



นายศรีราชากล่าวว่า ที่ดินกว่า 1 ใน 3 ของประเทศ หรือคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 100 ล้านไร่ กำลังตกอยู่ในมือของชาวต่างชาติ ทำให้เห็นว่า เป็นการแย่งดินแดนโดยใช้ระบบเศรษฐกิจ รวมถึงช่องโหว่ของกฎหมาย ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีมาตั้งแต่อดีต จากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำในปี 2540 หรือภาวะต้มยำกุ้ง ทำให้มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ จนเกิดการถือครองที่ดินโดยชาวต่างชาติในช่วง ปี 2540 กฎหมายเปิดช่องให้ชาวต่างชาติที่มีเงินเพียง 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เข้ามาถือครองที่ดินในไทยได้เป็นกรณีพิเศษ ทำให้วันนี้มีที่ดิน 1 ใน 3 ของประเทศ ถูกครอบครอง และทำนิติกรรมอำพรางหรือนอมินีโดยคนต่างด้าว คิดเป็นเนื้อที่ ประมาณ 100 ล้านไร่







"จากการวิจัยของสถาบันการศึกษาพบว่า พื้นที่ที่ติดชายทะเล เช่น หาดบ้านเพ จ.ระยอง เป็นของต่างชาติกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ที่ดินในอ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และพัทยา จ.ชลบุรี มีชาวต่างชาติถือครองถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และในจ.ภูเก็ต แทบไม่ต้องพูดถึง เพราะล้วนแต่มีชาวต่างชาติถือครองที่ดิน ผ่านนอมินีแทบทั้งสิ้น โดยใช้วิธีหลากหลายรูปแบบทั้งการสมรสกับคนไทย หรือตั้งบริษัทไทย และแปลงสภาพจากสัดส่วนการถือหุ้น แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้คนต่างด้าวถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 49 แต่ในทางกลับกันกลับพบว่า ร้อยละ 51 ต่างถือครองในลักษณะนอมินีแทบทั้งสิ้น" ผู้ตรวจการแผ่นดินกล่าว







นายศรีราชากล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะต้องทบทวนการจำกัดการถือครองที่ดิน และผลักดันการปฏิรูปที่ดิน โดยให้มีการชำระภาษีที่ดินเพิ่มมากขึ้น เพื่อกระตุ้นการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เรื่องนี้แม้จะเป็นเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา เชื่อเถอะว่าไปไม่รอดแน่ เพราะคนรวยในระบอบนี้ไม่มีใครยอม รวมทั้งต้องสร้างเครือข่ายร่วมกัน ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รวมถึงการจัดให้มีสินบนนำจับ เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว



อย่างไรก็ตามการที่ได้เห็นสภาพบ้านเมืองแบบนี้ คาดว่า เมืองไทยจะไม่มีอะไรเหลือให้คนรุ่นหลังได้ คนรุ่นหลังจะไม่มีที่อยู่ จากนี้ไปต้องจับตาแนวคิดที่รัฐบาลสนับสนุนนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดช่องทางให้เกิดการถือครองที่ดินของต่างชาติมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ตนเองจับตาแนวคิดดังกล่าวตั้งแต่ออสเตรเลียพยายามเอาผลไม้ของไทยไปปลูกในประเทศของตัวเอง แต่ไม่สามารถปลูกได้ จึงมีแนวคิดขอเช่าที่ดินในไทยเพื่อทำการเพาะปลูกแทน ขณะที่นักการเมืองบางคนก็สนับสนุนให้ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางปลูกข้าวหอมมะลิในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย และจะมีการตรีตราสัญลักษณ์เป็นภาษาตะวันออกกลางทั้งหมด







"เรื่องนี้หากไม่สำเหนียกในการคุ้มครองสิทธิชาวนาไทย ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้มาจากกความไม่สามารถของฝ่ายบริหารของประเทศที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ปลูกพื้นไร่บ้านเราบนที่ดินเราแต่ผลผลิตส่งกลับประเทศของเขาและคนไทยจะเป็นเพียงแรงงานเท่านั้น" นายศรีราชากล่าว







ขณะที่ น.ส.ปิยะนุช โปตะวณิช อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ปัญหานี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างมากในช่วงปี 2558 ซึ่งจะเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนและเปิดเศรษฐกิจเสรีเพื่อกระตุ้นการลงทุนในภูมิภาค เกรงว่าจะกลายเป็นช่องว่างให้เกิดกระบวนการนิติกรรมอำพรางของต่างชาติ เข้ามาถือครองที่ดินในไทย โดยเฉพาะประเทศสิงคโปร์ อยากให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจับตามองเป็นพิเศษ เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งทางด้านการเงินจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องการลงทุนในด้านอื่นๆ เพื่อทำประโยชน์และสร้างกำไรทางเศรษฐกิจ















"ปัญหาตอนนี้คือ ทำอย่างไรให้หน่วยงานตรวจสอบมีความเข้มแข็ง และประสานงานกันอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปได้หรือไม่กับการกำหนดข้อห้ามออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร การบูรณาการข้อมูล การเสนอกฎหมายการกระทำความผิดของตัวแทนกระทำอำพราง รวมไปถึงมาตรการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มแข็งด้วย หรือการเนรเทศชาวต่างชาติที่กระทำความผิดในส่วนนี้"







ด้านนายสุจิต จงประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการทะเบียนที่ดิน กรมที่ดิน กล่าวว่า คนต่างด้าวมีศักยภาพในทางการเงินสูง จึงขวนขวายให้ได้มาซึ่งที่ดินจำนวนมาก เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินตรากลับประเทศ ทั้งนี้การพิสูจน์การถือครองที่ดินของต่างชาติทำได้ยาก เพราะถ้าผู้ที่เข้ามาจดทะเบียนได้ยื่นเอกสารและมีคุณสมบัติตามกฎหมาย เช่น ไม่ใช่เป็นคนต่างด้าว เป็นทรัพย์สินส่วนตัว เป็นต้น ก็สามารถจดทะเบียนได้ และยอมรับว่าตอนนี้มีหลายรูปแบบในการเข้ามาถือครอง เช่น การจดทะเบียนสมรสกับชาวไทย แต่กระบวนการพิสูจน์ว่าทรัพย์สินที่นำมาซื้อที่ดินเป็นสินสมรสหรือส่วนตัว ประกอบกับกฎหมายปัจจุบันได้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่สมรสแล้วสามารถใช้คำนำหน้านามว่านางสาวได้ ยิ่งเป็นปัญหาเข้าไปอีก เพราะตรวจสอบได้ยากมากว่าเป็นนอมีนีหรือตัวแทนหรือไม่ นอกจากนี้ในทางปฏิบัติ แต่ละวันมีผู้เข้ามาจดทะเบียนกับกรมที่ดินเยอะมาก ดังนั้นการตรวจสอบจึงมีข้อจำกัด



พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) กล่าวว่า ป.ป.ง.เป็นหน่วยงานที่ต้องรับรายงานการทำธุรกรรมการซื้อขายที่ดินด้วยเงินสดเกิน 2 ล้านบาท แต่ตอนนี้พบว่า มีการเลี่ยงกฎหมายด้วยการทำขนาดของธุรกรรมให้เล็กลงโดยไม่ให้เกิน 2 ล้านบาท เพื่อไม่ต้องรายงานป.ป.ง. เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาจำเป็นอย่างยิ่งต้องได้รับความร่วมมือจากกรมที่ดิน



อ้างอิงข่าว : http://www.tcijthai.com/news/2012/03/scoop/335

No comments:

Post a Comment